วันเสาร์ที่ 27 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2553

6.เรียนรู้คณิตศาสตร์ในชีวิตประจำวัน(ต่อ)

6.การชั่ง ตวง วัด

ในชีวิตประจำวันเราหนีไม่พ้นกับการชั่ง ตวง วัด ทุกสิ่งทุกอย่าง ไม่ว่าจะเป็นทั้งอุณหภูมิ น้ำหนัก พื้นที่ ปริมาณ ค่าของเงิน ความเร็ว และเวลา บางครั้ง เราต้องการวัดเพียงหยาบๆ เพื่อจัดลำดับหรือเพื่อเปรียบเทียบเท่านั้น ขณะที่บางครั้งเราก็จำเป็นต้องชั่ง ตวง วัด อย่างละเอียดถี่ถ้วน ให้ถูกต้องมากที่สุด หรือบางครั้งเราก็ชั่ง ตวง วัด เฉพาะสิ่งที่น่าสนใจ และนำไปใช้ประโยชน์อย่างจริงๆ

ในบทนี้จะมุ่งเฉพาะในเรื่องของขนาด และน้ำหนัก กิจกรรมหลายอย่างในบทที่ 2 และบทที่ 4 มีประโยชน์ในการช่วยเด็กให้เรียนรู้เรื่องเหล่านี้เช่นกัน

คำศัพท์ที่เราใช้

การชั่ง ตวง วัด เป็นส่วนหนึ่งของการดำรงชีวิตประจำวัน เพราะเราใช้คำศัพท์ต่างๆ เหล่านี้เพื่อการเปรียบเทียบ คำบางคำมีความหมายเฉพาะเป็นต้นว่า เราพบบุ้งในสวน ซึ่งเราต่างเห็นพ้องรวมกันว่า มันช่างใหญ่โตอะไรเช่นนั้น ในขณะเดียวกัน หากเปรียบเทียบกับร่างกายของเราแล้ว มันเป็นสัตว์เล็กมากๆ เราจำเป็นต้องเปรียบเทียบกับบุ้งตัวอื่นๆ ที่เราเคยพบเห็นมาในอดีต

ตัวอย่างคำที่มีประโยชน์มาก

1. ใหญ่ เล็ก กว้าง แคบ

2. ใหญ่กว่า เล็กกว่า กว้างกว่า แคบกว่า

3. ใหญ่ที่สุด เล็กที่สุด กว้างที่สุด แคบที่สุด

และตัวอย่างคำประเภทเดียวกับอื่นๆ เช่น

1. เตี้ย ผอม เต็ม สูง

2. สูง หนา ว่าง ต่ำ

3. ใหญ่ หนัก ใกล้

4. เล็ก เบา ไกล

รางลูกแก้ว

* เด็กๆ ทำทางเดินของลูกแก้วให้ยาวที่สุดได้เท่าใด จากข้างบนถึงข้างล่าง

* เด็กๆ จะทำให้มันสั้นลงหรือยาวขึ้นได่อย่างไร

* จะทำให้รางลูกแก้ว กว้างหรือสูงขึ้นได้หรือไม่

เสื้อผ้าและรองเท้า

* ใครมีเท้าใหญ่ที่สุดในบ้านของเรา

* ใครสวมรองเท้าคู่ใหญ่ที่สุด

* เท้าของแม่ใหญ่กว่าของลูกหรือไม่

* เปรียบเทียบ ถุงเท้า เสื้อเชิ้ต ชุดนอน เสื้อคลุม และถุงมือ ที่มีขนาดต่างๆ กัน

กระดาษห่อพัสดุ

ห่อสิ่งของต่างๆ ในกล่องพัสดุ เล่นสมมุติเป็นของขวัญให้แก่กัน

* กระดาษมีพอไหม

* เราต้องการเทปติดกระดาษเพิ่มหรือไม่

* เชือกจะพันได้รอบกล่องหรือไม่

เปรียบเทียบขนาด

คุรคุยสิ่งที่คุณเห็นและแสดงด้วยว่าสิ่งที่เห็นนั้นใหญ่หรือเล็กเพียงใด

* แม่เห็นปลาทองในสวนสาธารณะ และมันยาวเท่านี้แน่ะ

* มีเต่าตัวเล็กๆ อยู่ที่ขั้นบันได ตัวใหญ่เกือบเท่าแขนพ่อนี่เลย

* แม่เห็นตุ๊กตาหมีในร้านค้า ตัวโตกว่าตัวแม่อีก

* เปรียบเทียบสิ่งต่างๆ ที่คุณพบเห็นให้ลูกฟัง

อาจช่วยส่งเสริมกระตุ้นให้ลูกๆ รู้จักการกะขนาดอย่างมีเหตุผล

* หนูกระโดดได้ไกลที่สุดเท่าใด

* หนูขว้างถุงถั่วได้ไกลแค่ไหน

* วัดระยะทางโดยการใช้ฝ่าเท้าวัดจากจุดเริ่มต้นถึงจุดสุดท้าย

* ลองกระโดด 2 ขามากกว่า 1 ครั้ง แล้วขาเดียวและขว้าง...อะไรดีที่สุด

โบว์ลิ่ง
 เล่นเกมโบว์ลิ่งแบบง่ายๆ วางแก้วพลาสติกหรือกระป๋องเล็ก หรือลูกบอลเล็กเป็นเป้า เตรียมลูกบอล 2-3 ลูก โยนลูกบอลไปยังเป้าที่วางได้ พยายามปาให้ล้มให้หมด ใช้เชือกหรือด้ายวัดระยะว่าลูกบอลลูกใดใกล้เป้าที่สุด

สิ่งที่ห่างออกไป
ชี้ให้ลูกของคุณดูว่าสิ่งที่ห่างไกลออกไปนั้น ขนาดของมันจะเล็กลงไป คอยดูรถยนต์หรือรถประจำทางเมื่อมันเข้าใกล้ๆ แล้วเปรียบเทียบเมื่อมันอยู่ห่างออกไป หรือควรพูดเน้นย้ำว่าสิ่งต่างๆ ไม่ได้เปลี่ยนขนาดจากความจริง เพียงแต่ดูเหมือนเล้กลง แต่ไม่ควรคาดหวังว่าเด็กจะเชื่อตามในครั้งแรกๆ ที่เด็กเห็น

เด็กต้องการเวลาและประสบการณ์เพื่อให้เกิดความเข้าใจว่าสิ่งต่างๆ (รวมทั้งคน) ไม่เปลี่ยนแปลงขนาดเมื่อเปลี่ยนตำแหน่ง

เมื่อคุณแม่ของดิฉันปรากฏตัวในโทรทัศน์รายการหนึ่งเพียงไม่กี่นาที ลูกสาวของดิฉัน (อายุขณะนั้น 4 ปี) ชมด้วยความตื่นเต้น และเมื่อเราได้คุณแม่ในวันต่อมา เธอก็กระซิบกับดิฉันว่า “หนูดีใจจังค่ะที่เขาให้คุณยายกลับมามีขนาดเหใอนเดิมแล้ว”

มายากลหรือความจริง
วันหนึ่งในขณะที่ดิฉันกำลังดูโทรทัศน์กับลูกชาย (ซึ่งขณะนั้นอายุ 5 ปี) นักมายากลกำลังแสดงกลเม็ดโดยใช้ไพ่ธรรมดาๆ เมื่อไหร่ก็ตามที่เขาสับไพ่จะปรากฏเป็นรูปแปดดอกจิกทุกครั้ง ดิฉันเองก็ไม่แน่ใจว่าทำไมเขาสามารถทำเช่นนั้นได้ แต่ลูกชายของดิฉันกลับไม่รู้สึกประทับใจเลยเขาไม่สนใจว่ามันน่าประหลาดใจนะ ที่ไพ่ใบหนึ่งปรากฏได้ซ้ำๆ กัน ส่วนหนึ่งก็เพราะเขาไม่มีความรู้สึกว่า ไพ่อีก 51 ใบนั้นเป็นเช่นไร เขามีประสบการณ์น้อยนิดในการเล่นไพ่จนเขาเองไม่อยู่ในฐานะที่จะตัดสินได้ว่านั่นเป็นกลหรือเป็นเรื่องธรรมดาๆ

เกมการชั่ง ตวง วัด
ประสบการณ์ที่ลูกคุณควรได้รับเกี่ยวกับการชั่ง ตวง วัด ทั้งในเรื่องน้ำ ทราย และสิ่งอื่นๆ

การเล่นน้ำ
การเล่นน้ำเป็นการพักผ่อนที่สนุกสนานมาก ต้องเตรียมตัวให้ดีๆ และต้องมีผู้ดูแลไม่ให้ลื่นล้มพื้นเปียกๆ ควรเตรียมเสื้อผ้ากันเปื้อนที่สำคัญที่สุดคือ ห้ามทิ้งให้เด็กเล่นน้ำตามลำพังเป็นอันขาด ต้องมีผู้ใหญ่คอยดูแลอยู่เสมอ

ใช้น้ำประเภทต่างๆ ในโอกาศต่างๆ กัน เช่น ลองน้ำอุ่น น้ำเย็น น้ำที่มีฟองสบู่ น้ำที่มีสีผสมอาหาร สีน้ำเงินและสีเขียว เตรียมช้อนพลาสติก ถ้วย ชาม เหยือก ภาชนะขนาดต่างๆ น ถ้วยไอศกรีม ถ้วยโยเกิต ฝักบัว และถังน้ำ

ภาชนะใดจะมีประโยชน์มาก เช่น ขวดแชมพู เราะคุณจะได้สอนให้รู้จักจำนวนเต็ม ครึ่ง และไม่มีเลย

ชักชวนหรือแนะนำให้ลูกทดลองทำสิ่งเหล่านี้ ลองเทน้ำลงในถ้วยที่ลอยได้จนกว่าจะจมลองเทหรือกรอกน้ำจากภาชนะเล็กๆ ใส่ในภาชนะที่โตกว่า ถ้าจะเทน้ำจากภาชนะใหญ่ใส่ ภาชนะเล็กกว่า จะเกิดอะไรขึ้น เล่นกังหันน้ำ ลองทดสอบอยู่ว่าจะทำให้กังหันหมุนได้นานขึ้นโดยเอาน้ำจากขันใหญ่ๆ แทนขันเล็กๆ ได้หรือไม่

ค้นหาว่าน้ำกี่ถ้วยตวงจะทำให้ขวดน้ำขนาดต่างๆ เต็มได้ เช่น น้ำกี่ช้อนชาทำให้ถ้วยเล็กๆ เต็ม หรือเทน้ำจากกระบวยเล็กไปสู่กระบวยใหญ่เพื่อเปรียบเทียบระดับน้ำ

ทราย กระดุม และถั่ว

เปิดโอกาศให้เด็กๆ ได้เล่นบ่อทรายขนาดใหญ่ หรือที่ชายหาดจะมีประโยชน์มาก การเล่นทรายในกระบะทรายขนาดเล็ก ก็มีประโยชน์เช่นกัน ถ้าหากมีการกระตุ้นให้เด็กรู้จักการเปรียบเทียบ ชั่ง ตวง วัด อย่างละเอียด

ทรายขาวเป็นสิ่งที่ดีที่สุด เพราะไม่มีสิ่งสกปรกแปดเปื้อน และเมื่อมันแห้งก็จะเป็นผงละเอียดมากๆ สามารถหาซื้อทรายได้จากร้านก่อสร้างต่างๆ

พื้นปูนอกบ้านที่สะอาดๆ ใช้เป็นที่เล่นทรายได้เป็นอย่างดี ใส่ทรายในกาละมังใหญ่ๆ แล้วเตรียมไม้กวาดที่โกยผงสำหรับให้เด็กเก็บกวาดเมื่อเล่นเสร็จ

ทรายขาวที่แห้งจะมีคุณสมบัติเหมือนของเหลวน้ำที่คุณอาจเทผ่านกังหันน้ำให้หมุนหรือกรอกใส่ถ้วยหรือภาชนะต่างๆ ได้

คุณอาจแนะนำให้ลูกเล่นทรายที่เกี่ยวกับการชั่ง ตวง วัด ได้ดังนี้

* ตวงทรายด้วยช้อนโต๊ะ ช้อนชา จนกว่าจะเต็มชาม อ่าง

* เล่นชั่งน้ำหนักด้วยตาชั่ง ใส่ทรายในถ้วยตวง แล้วเฝ้าคอยดูจานตวงที่หนักกว่าอีกด้านหนึ่งจะค่อยๆ ถ่วงลง ให้เด็กๆ ทดลองดูว่าทำอย่างไรที่จะทำให้จานตวงอยู่ระดับเดียวกันได้

* วางก้อนหิน ก้อนอิฐ หรือรถยนต์ของเล่นหลายๆ คัน ในจานตวงข้างหนึ่ง แล้วเททรายใส่อีกข้างหนึ่งจนกว่าจะอยู่ระดับเดียวกัน

* เทน้ำลงในจานที่มีทรายแห้ง แล้วเปรียบเทียบน้ำหนักของทรายเปียกกับทรายแห้ง

* ก่อภูเขาหรือเนินทราย ใช้ช้อนทั้งขนาดเล็กและใหญ่

* ก่อปราสาททรายเล็กๆ ด้วยไอศกรีม

มีกิจกรรมหลายประเภทที่เด็กๆ ใช้เล่นแทนทรายได้ เช่น ข้าว ถั่วต่างๆ และกระดุมเม็ดเล็กๆ ในกรณีที่นำอาหารมาเล่น ควรใช้ภาชนะที่สะอาด รวมทั้งล้างมือเด็กให้สะอาดด้วยเพื่อว่าหลังจากการเล่นแล้วจะสามารถนำมาปรุงอาหารได้

ระวังอันตรายในระหว่างที่เด็กๆ กำลังเล่น ควรมีผู้ใหญ่คอยดูแลอยู่ไม่ห่าง มิฉะนั้นอาจเกิดอันตรายขึ้นง่ายๆ ลูกชายของดิฉันเคยเอาเม็ดถั่วใส่ในหูของเขา เพราะว่าเขาต้องการดูว่าเขาจะสามารถสั่นให้มันหลุดไปอีกข้างได้หรือไม่ พยาบาลที่ห้องฉุกเฉินบอกว่านี่เป็นสิ่งที่เด็กอายุ 4-5 ปี ชอบทำ จึงควรระวังมากๆ

การประกอบอาหาร

อาหารและการเตรียมอาหารเป็นบทเรียนในเรื่องชั่งตวงวัดที่ดีที่สุด เราใช้ทั้งการชั่ง ตวง วัด แบบไม่เป็นทางการ เช่น 1 ถ้วยเต็ม 1 ช้อนชา และมาตราวัดที่เป็นมาตราฐาน เช่น กรัม เราวัดเวลา (15 นาทีในตู้อบ) และอุณหภูมิ (ร้อนมากขนาด 220 องศาเซลเซียส และระดับแก๊สที่เลข 8) จนในที่สุดเราก็ไดรับประทานอาหารที่เราช่วยกันปรุงจนสำเร็จ

เริ่มต้นจากส่วนผสมต่างๆ ในจำนวนที่พอเหมาะ เมื่อเราเข้าครัวโดยมีลูกๆ เป็นลูกมือคอยช่วยเหลือคุณแม่หรือคุณพ่อที่อาสาเป็นพ่อครัวหัวป่าก็สามารถใช้ลูกๆ ได้ เรียนรู้เรื่องการชั่ง ตวง วัด ได้

* ละลายน้ำส้มเข้มข้น แสดงให้ลูกดูว่าต้องใช้น้ำส้มและน้ำเปล่ากี่ส่วน

* ผสมน้ำผลไม้ในเหยือก ด้วยน้ำผลไม้ 1 ส่วนและน้พเปล่า 6 ส่วน เป็นต้น

อ่านส่วนผสมดังๆ แล้วสาธิตให้ลูกดูวิธีการชั่ง ตวง วัด ส่วนผสมต่างๆ เด็ก อายุต่ำกว่า 8 ปี บางคนสามารถอ่านตาชั่งที่มีตัวเลขแวดงน้ำหนักไล่จากน้อยไปหามากได้ แต่ต้องเป็นตัวเลขที่อ่านง่าย อย่างไรก็ตามถุณพ่อคุณแม่ควรทำการชั่ง ตวง วัด เป็นตัวอย่างให้ลูกสังเกตเห็น และอาจให้ลูกได้ลงมือ ช่วยตวงส่วนประกอบบางอย่างได้

รายการอาหารควรใช้การชั่ง ตวง วัด แบบเดียวดันให้ตลอด เช่น เป็นกรัม และกิโลกรัม

การชั่ง ตวง วัด มีประโยชน์

เด็กที่มีอายุมากขึ้น จะค่อยๆ เข้าใจความจำเป็นและเห็นประโยชน์ของการมีมตราฐานในระบบชั่ง ตวง วัด โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อพวกเขาได้เห็นหรือได้มีโอกาศลงมือชั่ง ตวง วัด สิ่งของต่างๆ ด้วยตนเอง

การซื้อของ

เมื่อไปซื้อาหารควรชี้ให้ลูกดูสินค้าขนาดต่างๆ เช่น เราต้องการนมขนาด 1 ลิตร หรือ 2 ลิตร เราต้องการเนยขนาด 250 กรัม หรือ 500 กรัม เราต้องการเนื้อหมู 4 ขีด หรือต้องการมะม่วง 2 กิโลกรัม

พูดคุยกับลูกเกี่ยวกับสิ่งที่หนัก และที่เบา เปรียบเทียบการหิ้วผลไม้ซึ่งเป็นของหนักกับการหิ้วขนมปังและเนย ซึ่งเป็นของเบา

เมื่อไปซื้อเสื้อผ้าให้ลูก พูดคุยกับเขาถึงฉลากที่ติดขนาดเสื้อผ้า บางร้านค้าใช้ความสูงเป็นหลัก ถามลูกว่า “สูงกี่เซนติเมตร” วัดขนาดสูงของลูกกับที่วัดส่วนสูง ช่วยให้เขาวัดส่วนสูงของเด็กๆ อื่น บางร้านค้าใช้อายุเป็นหลัก อธิบายให้ลูกฟังว่า เสื้อผ้าทึ่ฉลากเป็นเลขอายุ จัดทำขึ้นเพื่อให้มีขนาดพอดีกับเด็กทั้งหญิงและชายที่มีเกณฑ์นั้น ร้านค้าบางแห่งใช้ขนาดของเอวและหน้าอกเป็นเกณฑ์ เช่น ขนาดเอว 26” หรือ 28” ให้ลูกได้ดูฉลากพร้อมๆ กับคุณ

เมื่อไปร้านขายรองเท้า อธิบายให้ลูกฟังว่าเป็นสิ่งสำคัญมากๆ ที่จะต้องซื้อขนาดที่ถูกต้อง เพื่อให้พอดีกับรองเท้าของลูกที่กำลังเติบโต จะได้เดินได้สะดวก ไม่ถูกบีบรัด เราต้องวัดเท้าและลองสวมใส่ดูเพื่อว่าจะได้คู่ที่ใส่สบายที่สุด

การตกแต่ง

กระดาษปิดฝาผนัง การทาสี การวางตำแหน่งกระเบื้อง การปูพรม หรือการวางของบนหิ้งแล้ว แล้วแต่เกี่ยวข้องกับการชั่งตวงวัดทั้งสิ้น เราต้องการกระดาษปิดฝาผนังกี่ม้วน เราต้องใส่น้ำผสมสีกี่ส่วน จะต้องตัดกระดาษนี้ยาวเท่าไหร่ เราต้องการกระป๋องสีขนาด 2.5 ลิตร พรมที่จะปูต้องมีขนาดกว้างเท่าไหร่

ในขณะที่ลูกกำลังฟังคุณพูด หรือมองดูคุณชั่ง ตวง วัด เด็กอาจมีส่วนช่วยคุณได้ อนุญาติให้เขาถือปลายสายวัดข้างหนึ่ง ในขณะที่คุณอ่านตัวเลขที่ต้องการ เขาอาจจะช่วยจำจำนวนม้วนกระดาษหรือจำนวนกระป๋องที่ต้องการ และลูกก็จะมีโอกาศสังเกตได้ว่ามีส่วนเหลืออยู่เท่าใด หรือใช้แล้วไปเท่าใด ในชีวิตจริงก็เป็นเช่นนั้น เราจะต้องคำนวณและนับสิ่งที่เหลืออยู่เสมอ

การท่องเที่ยว

เด็กเล็กๆ หลายคนมักคิดว่า ระยะทางระหว่างสถานที่ 2 แห่งเปลี่ยนแปลงได้ ขึ้นอยู่กับทิศทางที่คุณเดินทาง และความเร็วที่คุณใช้ การทดลองวัดระยะทางสั้น เป็นการเริ่มต้นที่จะให้ความเข้าใจแก้เด็กว่า ระยะทางที่ห่างกันจะคงที่ เช่น บ้านและโรงเรียนอยู่ห่างกัน 10 กิโลเมตร ไม่ว่าจะใช้วิธีเดินหรือนั่งรถไป บ้านและโรงเรียนก็จะอยู่ห่างกัน 10 กิโลเมตรเช่นเดิม การพูดคุยเกี่บงกัยเส้นทาง และระยะทาง ไม่ว่าจะเป็นที่หยุดรถประจำทางที่ใกล้ที่สุด หรือสถานที่ที่ห่างไกลหลายร้อยกิโลเมตรก็ตาม

การชั่ง ตวง วัด ในชีวิตประจำวัน

การชั่ง ตวง วัด เป็นกิจกรรมที่ปะปนอยู่ในชีวิตประจำวันของเราอย่างหลีกเลี่ยงไม่พ้น การเรียนรู้เรื่องการชั่ง ตวง วัด ใช้เวลาอย่างน้อยที่สุดจนกว่าจะจบชั้นมัธยมศึกษา ดังนั้นจึงควรให้โอกาศลูกได้ลงมือทำการชั่ง ตวง วัด ด้วยตนเองกับสิ่งที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวันที่บ้านให้มากที่สุด

7.เวลา

ความรู้ความเข้าใจเรื่องเวลาอาจเป็นเรื่องง่ายๆ ที่ไม่ซับซ้อนสำหรับผู้ใหญ่ แต่สำหรับเด็กๆ แล้วการเรียนรู้เรื่องเวลาเป็นเรื่องที่สร้างความยุ่งยากให้กับพวกเขามากทีเดียว ระยะเวลา 1 ปีคือช่วงเวลาที่นานมากในชีวิตของพวกเขา ในขณะที่ผู้ใหญ่ที่ผ่านร้อนผ่านหนาวมาถึง 20-30 ปี จะรู้สึกว่าเวลา 1 ปี ช่างผ่านไปอย่างรวดเร็วราวกับติดปีก

แต่บางครั้ง ความสั้นยาวของเวลาก็ขึ้นอยู่กับความรู้สึกด้วยเช่นกัน เวลา 1 ชั่วโมงอาจจะผ่านไปอย่างรวดเร็วสำหรับผู้ที่กำลังมีความสุข หรือกำลังทำงานอย่างเพลิดเพลิน ขณะเดียวกันเวลาก็ช่างเคลื่อนคลานไปอย่างเชื่องช้า และยืดยาวสำหรับผู้ที่กำลังรอคอยบางสิ่งบางอย่างหรืออยู่ที่กำลังตกอยู่ในห้วงของความทุกข์

ฤดูกาลก่อให้เกิดความสับสนได้ เช่น ในฤดูร้อน เมื่อเลิกงานแล้วเราอาจเดินทางไปต่อไหนได้อย่างสะดวกก่อนถึงหัวค่ำ ผิดกับฤดูหนาวที่เราต้องรีบเร่งกลับบ้าน เพราะไม่นานก็มืดไปหมดแล้ว

มีคำศัพท์ที่เด็กต้องต้องเรียนรู้หลายคำและบางคำก็ทำให้เด็กงง สับสนได้ สำหรับเด็กๆ แล้ว คำว่าวันนี้ เมื่อวานนี้ พรุ่งนี้ ดูเหมือนจะเปลี่ยนแปลงความหมายได้เรื่อยๆ ภายใน 1 นาที กลางวันก่อนและหลัง สัปดาห์นี้ และสัปดาห์หน้า เป็นคำศัพท์และวลีที่เด็กต้องฝึกหัดใช้ลองดูตัวอย่างเด็กที่มีอายุต่างกัน 6 คน ต่อไปนี้ ใช้คำและเวลาต่างกันอย่างไร

เด็กอายุ 2 ปี คิดได้เฉพาะเรื่องปัจจุบัน ถ้าเป็นอนาคตก็ต้องเป็นอนาคตอันใกล้ เช่น หนูจะดื่มนมหลังจากล้างมือแล้ว

เด็กอายุ 3 ปี ใช้คำศัพท์เกี่ยวกับเวลา ส่วนใหญ่จะผิดความหมาย เช่น จะพูดว่า “หนูกำลังจะไปเล่นเมื่อวานนี้” และ “พรุ่งนี้แล้ว กินขนมได้” เด็กวัยนี้จะชอบออกเสียงเลขสองมากไม่ว่าจะถามคำถามอะไรเด็กๆ มักจะตอบด้วยเลข 2 เสมอ

เด็กอายุ 4 ปี เริ่มรับรู้อายุเท่าใดขณะนี้ และก่อนหน้านี้อายุเท่าใด มีความเข้าใจเพียงพอสำหรับการลำดับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวัน และถามคำถามเกี่ยวกับเวลาบ่อยๆ เช่น ถึงเวลาที่น้องจะกลับจากโรงเรียนหรือยังค่ะ

เด็กอายุ 5 ปี รู้จักว่าไม่ต้องไปโรงเรียนในวันเสาร์ และวันอาทิตย์ เรารู้ว่าเวลานี้เป็นเวลาเช้าหรือเวลาบ่าย เด็กเขาจะชอบที่จะวางแผน “พรุ่งนี้เราไปเที่ยวเขาดินเอามั้ย”

เด็กอายุ 6 ปี สามารถบอกได้ว่าเป็นฤดูหนาวหรือฤดูร้อน เด็กวัย 6 ปีจะรู้ว่าเมื่อเข็มยาวและเข็มสั้นชี้เลขอะไรบนหน้าปัดนาฬิกา เขาจะรู้ว่าเวลานี้เป็นเวลาไปโรงเรียน เพราะเป็นเวลา 8.30 น. ถึงแม้ว่าเธอจะยังอ่านเวลาไม่เป็นก็ตาม

เด็กอายุ 7 ปี จะพูดคุยอย่างมั่นใจในสิ่งที่เกิดขึ้นในอดีต ปัจจุบัน และอนาคต เขาสามารถบอกเวลาที่เป็นชั่วโมง ครึ่งชั่วโมง หรือ 15 นาที ได้ แต่ยังไม่แน่ใจนักในเรื่องเวลาอื่นๆ เขารู้ว่าวันเกิดของเจาตรงกับวันที่ 4 เดือนกุมภาพันธ์ แต่ไม่แน่ใจในปี พ.ศ. ที่เขาเกิด

ลำดับเหตุการณ์

สิ่งที่เด็กจำเป็นต้องเรียนรู้เกี่ยวกับเวลาเป็นสิ่งแรกคือการเรียงลำดับเวลาก่อน-หลัง มีกิจกรรมในชีวิตประจำวันเป็นจำนวนมากที่เรานำมาสอนเด็กๆ ได้ในเรื่องการเรียงลำดับเวลา

สิ่งที่ควรปฏิบัติในแต่ละวัน

พูดคุยถึงเหตุการณ์ในชีวิตประจำวัน และลำดับสิ่งที่ทำก่อนหลังในการตื่นนอน การชำระล้างทำความสะอาดร่างกาย การแต่งตัว การรับประทานอาหาร การไปซื้อของ การเที่ยว และการเข้านอน

ช่วยให้ลูกเข้าใจคำว่า เมื่อวานนี้ และ วันพรุ่งนี้ ในสิ่งที่ยังไม่เกิดขึ้นทุกๆ วัน “เมื่อวานนี้ลูกสนุกไหมที่ได้ไปเล่นน้ำ” หรือ “ลองโทรศัพท์ไปคุยกับพี่แป้งแล้วถามว่า พวกเราจะไปเยี่ยมเธอวันพรุ่งนี้ได้ไหม” “เช้านี้เราทำอะไรไปบ้างแล้วนะ” “บ่ายนี้เราควรจะทำอะไรกันดี”

เกมภาพตัดต่อ

ให้ลูกเล่นเกมเรียงภาพเหตุการณ์ต่อเนื่อง หรือเกมภาพตัดต่อที่ต้องเรียงลำดับเหตุการณ์

ไปโรงพยาบาลกันดีกว่า

เกมโรงพยาบาลสมมุติจะเปิดโอกาศให้คุณได้คุยกับลูกเรื่องเวลาได้มากมาย เพราะคุณสามารถสมมุติว่าอยู่ที่โรงพยาบาลได้ทั้งเวลาเช้า เวลาบ่าย เวลาเย็น และเวลากลางคืน

ใช้กล่องกระดาษกล่องโตๆ เป็นเตียงนอนตุ๊กตาหรือตุ๊กตาหมี และใช้ผ้าเช็ดหน้าผืนโตๆ หรือผ้าเช็ดโต๊ะเป็นผ้าปูเตียง โรงพยาบาลต้องมีห้องครัวเช่นเดียวกัน ระบายสีหรือติดภาพและทำปุ่มควบคุม และใช้เทปกระดาษติดบนกล่องทำเป็นเครื่องรับโทรทัศน์ เลือกหนังสือนิทาน เกมตัดต่อและของเล่นบางชิ้นเพื่อให้ผู้ป่วยเล่นคลายเหงา ใช้สำลีและจานเล็กๆ สำหรับทำความสะอาดแขนและขาที่บาดเจ็บ และตัดพลาสเตอร์ยาปิดแผลด้วย

เด็กๆ สามารถเล่นเป็นทั้งหมอและพยาบาล หาเสื้อเชิ้ตสีขาวให้ใส่แล้วม้วนแขนเสื้อให้เหมือนเสื้อนายแพทย์ ทำหมวกพยาบาลให้มีเครื่องหมายกาชาดสีแดงตรงกลางด้วย

กิจวัตรประจำวันของผู้ป่วยจะเริ่มต้นด้วยการตื่นนอน แนะนำให้ลูกเชคตัวผู้ป่วยแล้วให้อาหารเช้า เพราะคุณหมอจะมาตรวจคนไข้หลังอาหารเช้า และในระหว่างช่วงเช้า นางพยาบาลจะเป็นคนอ่านนิทาน ร้องเพลงและเล่นเกมกับคนไข้ หลังจากอาหารกลางวัน คนไข้ก็อาจจะพักผ่อนด้วยการดูโทรทัศน์ หรือไม่ก็สนทนากับผู้มาเยี่ยมไข้ จากนั้นหลังอาหารเย็นก็เป็นเวลานอนหลังพักผ่อนอีกครั้ง

การถ่ายภาพ

ถ้าคุณมีภาพถ่ายของลูกขณะอายุต่างๆกัน จากวัยทารกจนถึงปัจจุบัน ใช้ภาพถ่ายเหล่านั้นพูดคุยเรื่องในอดีต

* “นี่ไงจ้ะรูปหนูเมื่อยังเป็นเด็กทารก ตอนนั้นหนูยังนั่งไม่ได้เลย และพูดก็ไม่เป็นด้วย”

* นี่รูปลูกกับแม่ เมื่อลูกอายุได้ 2 ขวบ ลูกกำลังหัดวิ่งและหัดพูด ตอนนั้นลูกต้องนุ่งผ้าอ้อมเพราะลูกยังเล็กเกินไปยังใส่กางเกงขายาวไม่ได้จ้ะ

* รูปนี้ลูกกำลังวิ่งเล่นในสวนบ้านคุณยาย ลูกจำได้มั้ย...ตอนนั้นเป็นหน้าหนาว หนูใส่เสื้อหนาว ใส่หมวกกันหนาวด้วย ตอนนี้เป็นหน้าร้อนแต่งตัวอย่างนั้นไม่ได้แล้ว

นอกจากพูดคุยเกี่ยวกับรูปถ่ายแล้ว คุณอาจใช้รูปลูกสัก 3-4 รูป แล้วให้ลูกลองเรียงลำดับเหตุการณ์ดูว่ารูปไหนเป็นรูปลูกเมื่อยังเป็นเด็กทารก และรูปไหนเป็นรูปลูกเมื่ออายุ 2 ปี 3 ปี เป็นต้น

นาฬิกาปลุก

อธิบายให้ลูกฟังว่านาฬิกาปลุกมีไว้ทำอะไร คุยกันว่าจะเกิดอะไรขึ้น หลังจากสัญาณ ปลุกหยุดแล้ว และอะไรเกิดขึ้นถ้าลูกไม่ตื่นนอนตามเวลา

ภาพฝาผนังกับชีวิตประจำวัน

ใช้ฝาผนังติดภาพเหตุการณ์ประจำสัปดาห์ โดยใช้กระดาษ 7 แผ่น เขียนชื่อลงในกระดาษแต่ละแผ่น วาดรูปกิจกรรมที่คุณและลูกทำร่วมกันในแต่ละวันเพื่อช่วยเตือนความจำ ไม่ควรเป็นรูปที่วาดยากหรือซับซ้อนเกินไป ควรเขียนเฉพาะเหตุการณ์ที่สำคัญ

ตัวอย่าง

วันจันทร์ เราไปไปรษณีย์

ติ๊งโหน่งขี่รถจักรยาน

วันอังคาร เราซื้อแตงโม 1 ลูก

วันพุธ ติ๊งโหน่งไปโรงเรียน

วันพฤหัสบดี เรานั่งรถเมล์

วันศุกร์ ติ๊งโหน่งไปโรงเรียนอีกครั้ง

วันเสาร์ แม่กินปลาทอด

วันอาทิตย์ เราไปเยี่ยมคุณปู่คุณย่า

เมื่อทำภาพกิจกรรมประจำวันเสร็จก็ปิดฝาผนัง และพูดคุยกับลูกในสัปดาห์นั้นหรือสัปดาห์ต่อไป “เมื่อวานนี้ทำอะไรบ้าง” และอื่นๆ โดยชี้ไปที่วันที่พูดคุยกับลูก ใช้คำศัพท์ชื่อวันให้บ่อยครั้งเท่าที่จะทำได้เพื่อให้เด็กคุ้นเคยกับชื่อวัน

เวลานานเท่าใด

ในขณะที่เรียนรู้ว่าเหตุการณ์เกิดขึ้นเป็นลำดับ เด็กจำเป็นต้องเรียนรู้วิธีการนับเวลาไปพร้อมๆ กัน กล่าวคือ วินาที นาที ชั่วโมง และอื่นๆ

ไข่และมันฝรั่ง

บอกให้ลูกช่วยจับเวลาที่ใช้ประกอบอาหารให้สุก ต้มไข่แล้วจับเวลาโดยใช้นาฬิกาทรายหรือดูเข็มยาวบนนาฬิกาแขวนหรือดูเข็มยาวบนนาฬิกาข้อมือเวียนครบ 3 รอบ อบมันฝรั่งในตู้เป็นเวลา 1 ชั่วโมง ตั้งเวลาด้วยนาฬิกาปลุกหรือนาฬิกาบนเตาอบ

ทำความคุ้นเคยกับเวลา

พูดคุยถึงสิ่งที่ทำในชีวิตประจำวันที่เกี่ยวข้องกับเวลาเพื่อให้ลูกของคุณคุ้นเคยกับคำศัพท์ที่เราใช้และเห็นความสำคัญของเวลา

* เวลาขณะคุณออกไปซื้อสินค้า หรือเดินเล่น สอนให้ลูกดูนาฬิกา รวมทั้งบอกให้รู้จักอ่านเวลา

* พูดคุยถึงเวลาที่สำคัญๆ “เร็วๆ เข้าลูกจ๋า อีก 10 นาทีก็จะ 9 โมงแล้ว ลูกจะไปโรงเรียนสายนะ”

*ฟังวิทยุ หรือดูโทรทัศน์ “ขณะนี้เวลา 9.30 น. วันศุกร์ที่ 21 สิงหาคม และต่อไปคือข่าวล่าสุด”

* ดูรายการโทรทัศน์ในหนังสือพิมพ์ และตรวจดูว่ารายการนานเท่าใด “รายการนี้ยาว 15 นาที เราจะรับประทานอาหารกลางวันกันเมื่อจบรายการนี้”

* ดูบัตรห้องสมุดสิ ถึงเวลาคืนหนังสือหรือยัง

* ตรวจวันที่ในสมุดบันทึกประจำวัน จากปฏิทิน หรือจากหนังสือพิมพ์

* ปลูกดอกไม้ ต้นไม้ในสวนด้วยกัน เพื่อสำรวจเวลา และฤดูกาลที่ผ่านไป

* พูดคุยถึงวันเกิดและวันสำคัญอื่นๆ

โปรดจำไว้ว่าลูกของคุณจำเป็นต้องเรียนรู้ลำดับเลขที่ จำนวนเลขที่แสดงลำดับ เช่น วันที่ 1 วันที่ 2 วันที่ 3 และวันที่ 31 เมื่อเราได้หยุดพักผ่อนในวันที่ 19 ก.ค.เรามีเวลา 2 สัปดาห์

ปฏิทิน

หาปฏิทินขนาดใหญ่ที่มีรูปน่าสนใจในแต่ละเดือน ให้ลูกพลิกดูภาพในแต่ละเดือนและพูดคุยเกี่ยวกับภสพ “รูปเดือนกุมภาพันธ์เป็นรูปอะไรค่ะ” “รูปแมวและลูกๆของมันค่ะ”

การมีปฏิทิน 2 ชุดจะเป็นประโยชน์ คุณอาจหาชุดที่สัมพันธ์กับฤดูกาลในแต่ละปี และชุดที่เป็นเรื่องราวที่น่าสนใจทั่วไป บางทีลูกของคุณอาจเลือกปฏิทินชุดที่ 2 ในเดือนกุมภาพันธ์ก็ได้ เพราะมีราคาถูกลงแล้ว และเขาจะได้ใช้แขวนในห้องนอนของเขา

การบอกเวลา

การบอกเวลาต้องอาศัยความรู้เรื่องเวลาเป็นอย่างมาก เด็กต้องสามารถจำสัญลักษณ์ของจำนวนเลขจำนวนจาก 1 ถึง 12 และจำได้ว่าเข็มยาวชี้ไปแต่ละตัวเลขหมายถึเวลากี่นาทีและเข็มไหนเป็นเข็มชั่วโมง และมีความสามารถที่จะนับไปข้างหน้าและถอยหลังครั้งละ 5 ได้ นอกจากนี้ สำหรับนาฬิกาบางเรือน ก็ยิ่งเพิ่มความสับสนให้เพราะไม่มีตัวเลขปรากฏบนหน้าปัดเลย และนาฬิกาแบบตัวเลขก็ไม่มีเข็มนาฬิกา จึงไม่น่าประหลาดใจนักที่ การบอกเวลาจะเป็นทักษะอย่างหนึ่ง ซึ่งใช้เวลาการเรียนรู้และเป็นสิ่งจำเป็นที่ต้องค่อยๆ เรียนรู้ทีละขั้นทีละตอนและไม่ควรเร่งรัดเป็นอันขาด

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สำหรับเด็กอายุต่ำกว่า 6 ปี ควรสอนเวล่ที่เขาประสบขณะนั้นไม่ใช่เวลาที่แสดงบนหน้าปัดนาฬิกา เพราะค่อนข้างสับสนสำหรับความคิดของตนเองที่ว่าเวลาผ่านไปยังเดินไปเรื่อยๆ และยิ่งสับสนมากขึ้นเมื่อต้องนั่งกับผู้ใหญ่ที่พยายามหมุนเข็มนาฬิกา (เพื่อใช้อธิบายเด็ก) พร้อมกับพูดว่า “ขณะนี้เวลาเท่าใด สี่นาฬิกา ขณะนี้เวลาเท่าใด หนึ่งนาฬิกา ลองตั้งนาฬิกาให้เป็นแปดนาฬิกาซิ”

การเรียนรู้เวลาอย่างง่ายๆ

เด็กอายุ 5 ปี หลายคนสามารถบอกได้ว่า “เป็นเวลาช่วงบ่าย” ซึ่งเป็นเวลาที่ง่ายที่สุดที่เรียนรู้ บ่าย-โมง บ่ายสองโมง บ่ายสี่โมง และบ่ายห้าโมง แขวนหรือตั้งนาฬิกาไว้ในห้องที่ลูของคุณนั่งเล่นตอนบ่าย และให้ลูกดูเวลาทุกชั่วโมง (ถ้าคุณไม่ลืม) นาฬิกาที่มีเสียงบอกเวลาหรือที่ตีดังๆ มีประโยชน์ ถ้าไม่มีก็ยืมคนที่มีสักเรือน

การเรียรู้เรื่องเวลาที่ดีที่สุดควรเรียนตามลำดับดังนี้ เวลาที่เปลี่ยนไปทีละ 1 ชั่วโมง เปลี่ยนไปทีละครึ่งชั่วโมง ผ่านไปทีละ 15 นาที จะถึงเวลา สุดท้ายค่อยเรียนรู้การนับจำนวนที่ที่ผ่านชั่วโมง และเหลือกี่นาทีจะถึงเวลานาฬิกาเก่าๆ ที่มีเข็มยาวจะมีประโยชน์หรือนาฬิกาของเล่นที่ใช้ได้เช่นกัน

คุณสามารถจะมีเวลาที่สนุกสนานในการช่วยลูกของคุณให้เรียนรู้

คณิตศาสตร์ด้วยกิจกรรมการเล่น

แต่จำไว้ว่า ความเข้าใจเท่านั้นสำคัญมากกว่า    การเรียนแบบนกแก้วนกขุนทอง  โปรดใช้เวลาอย่างสนุกสนานในการ  เรียนรู้คณิตศาสตร์ร่วมกันกับลูก

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น